เรื่องที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพืชผักสวนครัว
       

ความหมายของพืชผักสวนครัว
      ผัก หมายถึง พืชที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากใบ ราก ดอก หัว หรือลำตันเป็นอาหาร ผักที่นำมาใช้เป็นอาหาร นี้สามารถจะรับประทานสดๆ หรือทำให้สุก เช่น แกง ต้ม นึ่ง ตุ๋น เป็นต้น พืชผักเป็นอาหารที่คนต้องรับประทานอยู่เป็นประจำ ถ้ามีเวลาและมีที่ว่างเหลืออยู่ที่บ้าน หรือโรงเรียน ควรปลูกพืชผักไว้สำหรับรับประทานเอง เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าจ่ายของ ครอบครัวแล้ว ยังทำให้ได้รับประทานผักสดที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและถ้าปลูกจำนวนมากก็ สามารถนำไปจำหน่ายหารายได้ให้กับครอบครัวได้ด้วย พืชผักที่ปลูกสำหรับรับประทานเองที่บ้าน หรือโรงเรียนตามลักษณะที่กล่าวเรียกว่า พืชผักสวนครัว
การปลูกพืชผักสวนครัว
การเตรียมดินปลูก
ประโยชน์ของพืชผักสวนครัว
     1.ใช้รับประทานเป็นอาหารโดยอาจรับประทานสดๆ เช่น แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดหอม หรือนำไปปรุงเป็นอาหารก่อน ซึ่งผักแต่ละ ชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันเช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ เป็นต้น
     2.ใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค เช่น หอม กระเทียม ขิง สะระแหน่ เป็น ต้น
     3.ใช้ขายเพื่อเป็นรายได้ของครอบครัว
     4.ทำให้ผู้ปลูกมีร่างกายแข็งแรง เพราะต้องพรวนดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และ ดูแลผักอยู่เสมอ ทำให้ได้ออกกำลังกายไปในตัว
     5.ทำเป็นรั้วบ้านได้ คือ ปลูกล้อมกั้นเป็นเขตของบ้าน ซึ่งเป็นที่มาของ คำว่า  "ผักสวนครัว รั้วกินได้" เช่น กระถิน ชะอม ตำลึง มะระ เป็นต้น
     6ใช้ตกแต่งอาหารให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น เช่น ผักกาดหอม,มะเขือเทศ,แครอท
วิธีการปลูกพืชสวนครัว
วิธีการปลูกพืชผัก พืชผักมีหลายชนิด วิธีการปลูกจึงต้องเลือกให้เหมาะสม พืชผักแต่ละชนิดมีส่วนซึ่งนำไปขยายพันธุ์เมื่อปลูกได้แตกต่างกัน ซึ่งพอจะแบ่งวิธีปลูกได้เป็น 3 วิธี คือ
     1.การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง
     2.การปลูกโดยวิธีการย้ายกล้า
     3.การปลูกโดยอาศัยส่วนต่างๆของต้นพืช
1.การปลูกพืชผักสวนครัวด้วยเมล็ดโดยตรง เป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในที่ที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำและศัตรูพืชมากนัก วิธีนี้มีข้อดี สามารถทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมธรรมชาติตั้งแต่เริ่มงอก ทำให้การเจริญเติบโตไม่ต้องหยุดชะงักเหมือนการย้ายปลูกและเปลืองแรงงานน้อยกว่า การปลูกด้วยเมล็ดมีด้วยกัน 3 วิธี คือ
    1.1 การหว่านเมล็ด นิยมใช้กับพืชผักกินใบที่มีอายุสั้น โตเร็ว มีระยะปลูกถี่ หาเมล็ดได้ง่าย ราคาถูก เช่น ผักบุ้ง ผักกาดกวางตุ้ง ผักชี โดยจะนำเมล็ดห่อผ้าและแช่น้ำไว้หนึ่งคืน ก่อนที่จะทำการหว่าน
     1.2 การหว่านเมล็ดแล้วถอนแยก เป็นวิธีการที่นิยมมากในภาคกลาง พืชผักที่นิยมปลูกโดยวิธีนี้ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม ผักกาดหัว หลังจากหว่านเมล็ดแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะทำการถอนแยกต้นกล้าเพื่อจัด ระยะปลูกให้เหมาะสม
     1.3 การปลูกโดยการหยอดเป็นหลุม นิยมใช้กับพืชผักที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ซึ่งต้นกล้าแข็งแรงและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ถั่วต่างๆ แตงต่างๆ บวบ มะระ โดยเตรียมหลุมให้มีระยะปลูกที่เหมาะสม หลังจากงอกแล้วก็จะมีการ ถอนแยกให้เหลือจำนวนต้นตามที่ต้องการ
2. การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการย้ายกล้า กล้าผัก คือพืชต้นอ่อนที่มีใบจริง 2 – 3 ใบ หรือสูง 5 – 10 เซนติเมตร หรือมีอายุประมาณ 15–30 วัน ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของพืชผัก ซึ่งบางชนิดมีอายุมากกว่านี้ เช่น พริก มะเขือ หอมหัวใหญ่มีอายุ 45 วัน หน่อไม้ฝรั่งมีอายุ 4 – 6 เดือน ผักที่ควรเพาะกล้าย้ายปลูก คือผักที่มีเมล็ดขนาดเล็ก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี มะเขือ มะเขือเทศ พริก หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดหอม

   
       
ภาพที่ 1 : ภาพผักสวนครัว
ที่มา https://tonzaza11.wordpress.com/2014/03/08/พืชผักสวนครัว
   
3.การปลูกโดยอาศัยส่วนต่างๆของต้นพืช เช่น การปักชำ การตอน การทาบกิ่ง การแบ่ง การแยกหน่อหรือการแยกกอ
สำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวโดยอาศัยส่วนต่างๆของพืชนั้น สามารถปลูกโดยอาศัยส่วนต่างๆได้หลายวิธี ดังนี้
     - การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการแยก หมายถึง การแยกส่วนของพืชออกตามรอยธรรมชาติแล้วนำไปปลูก เช่น หน่อกล้วย ตะไคร้ สับปะรด หอม กระเทียม
     - การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการแบ่ง หมายถึง การตัดส่วนของพืชซึ่งไม่มีรอยแบ่งตามธรรมชาติออกเป็นส่วนๆโดยให้มีตาติด แล้วนำไปปลูก เช่น มันฝรั่ง เมื่อนำไปชำจะเกิดเป็นต้นใหม่ แล้วจึงนำไปปลูก
     - การปลูกพืชผักสวนครัวโดยวิธีการปักชำ หมายถึง การตัดกิ่ง ราก หรือใบ มาจากต้นแม่ แล้วนำมาชำไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ออกรากหรือต้น เป็นการเพิ่มจำนวนต้นใหม่โดยที่ต้นใหม่เหล่านี้มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกอย่าง การปักชำสามารถทำได้กับพืชผักสวนครัวหลายชนิด เช่น สะระแหน่ กะเพรา โหระพา ชะอม สลิด ฯลฯ
การปฏิบัติดูแลรักษา
การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาดังกล่าว ได้แก่
1. การให้น้ำ การปลูกผักจำเป็นต้องให้น้ำเพียงพอ การให้น้ำผักควรรดน้ำในช่วง เช้า- เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด และรดน้ำแต่พอชุ่มอย่าให้โชก
2. การให้ปุ๋ย มี 2 ระยะคือ
     2.1 ใส่รองพื้นคือการใส่เมื่อเวลาเตรียมดิน หรือรองก้นหลุมก่อนปลูก ปุ๋ยที่ใส่ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกในดินให้ทั่วก่อนปลูกเพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย นอกจากนั้นยังช่วยในการอุ้มน้ำและรักษาความชื้นของดินให้
เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชด้วย

     2.2 การใส่ปุ๋ยบำรุง ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าไปปลูกจนกล้าตั้งตัวได้แล้ว และใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ การใส่ให้โรยบางๆ ระหว่างแถว ระวังอย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เพราะจะทำให้ผักตายได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วให้พรวนดินและรดน้ำทันที สูตรปุ๋ยที่ใช้กับพืชผัก ได้แก่ ยูเรีย หรือ
แอมโมเนียซัลเฟต สำหรับบำรุงต้นและใบ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 12-24-12 สำหรับเร่งการออกดอกและผล
ข้อควรคำนึงถึงการปลูกพืชผักสวนครัว
1.เลือกสถานที่ปลูก ควรเลือกสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ใกล้กับแหล่งน้ำ แต่สำหรับผู้ที่มีความต้องการปลูกพืชผักสวนครัวแต่ปัญหาในด้านสถานที่ในการปลูก สามารถแก้ไขการปลูกโดยใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การปลูกในกระถางต้นไม้ ปลูกในถุงพลาสติก ปลูกในกระสอบ ปลูกในกระบอกไม้ไผ่ ยางรถยนต์ หรือปลูกในถุงดำ
2.เลือกชนิดของพืชผักที่จะปลูก ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและฤดูกาล ดังนี้
     - สภาพแสงและร่มเงา เช่นพืชผักที่ต้องการแสงตลอดทังวัน ได้แก่ ขิง ข่าตะไคร้ สะระแหน่ กระเพรา ต้นชะพลู คะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง เป็นต้น
     - ฤดูกาล ในช่วงของฤดูฝน พืชผักสวนครัวที่ควรปลูก ได้แก่ หัวหอม ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เป็นต้น
ฤดูหนาว ควรปลูก ได้แก่ กะหล่ำดอก คะน้า ผักกาดหอม เป็นต้น
ฤดูร้อน ควรปลูก ได้แก่ บวบ มะระ ฟักทอง ผักชี เป็นต้น
ปลูกได้ทุกฤดู ได้แก่ สะระแหน่ แมงลัก โหระพา กะเพรา ข่า ตะไคร้ พริกชี้ฟ้า